Nakornthai Bike

Contact Number : +662 3771701 , +662 3781900 , +6681 9145156

Line@ : @nakornthaibike  E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.  

Address : https://maps.app.goo.gl/oQzVaBu5EMmHhuyN6?g_st=ic



Nakornthai's talk

Nakornthai's talk

Bangkok กับ Bogota สองนคราแห่งความเหมือนและแตกต่าง

ถ้าเราอาศัยอยู่ในเมืองหลวงของประเทศโคลัมเบียหรือประเทศไทยช่วงกลางปี 1990 แน่นอนเราอาจจะเคยได้ยินคำพูดนี้มาบ้างว่า ใครก็ตามสามารถขับรถหรือข้ามถนนไปในใจกลางกรุงโบโกต้าและกรุงเทพฯได้อย่างปลอดภัย คนคนนั้นจะสามารถขับรถและข้ามถนนไปได้ทุกมหานครในโลกใบนี้ได้อย่างสบาย แต่เราอยากจะเพิ่มคำเปรียบเปรยนี้ เพื่อให้เห็นถึงความวิกฤตของการจราจรทั้งสองเมืองจนเห็นภาพได้อย่างชัดเจนขึ้นไปอีก คือ ถ้าท่านจะอยู่รอดบนถนนของทั้งสองเมืองใหญ่นี้ได้โดยการเดินทางโดยใช้จักรยาน คุณจะเป็นเอกอุแห่งผู้เชี่ยวชาญระดับมืออาชีพของการปั่นสองล้อเลยทีเดียว

กรุงโบโกต้าและกรุงเทพฯเป็นมหานครที่มีประชากรเกินหกล้านคนเหมือนกัน ( กทม.มีประชากร5,701,394 คน สำรวจเมื่อ 31 ธ.ค.2553 ) ดังนั้นจำนวนยวดยานก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ในกรุงโบโกต้าลำพังแค่รถแท็กซี่มีจำนวนเกือบหกหมื่นคัน รถบัสยัดทะนานเข้าไปอีก 18,000คัน ปิดท้ายด้วยรถส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์อีกหลายล้านคัน อันเป็นที่มาของอุบัติเหตุปีล่ะ 60,000 ราย ในขณะที่กรุงเทพฯมีจำนวนยวดยานถึง6.62ล้านคัน (ในจำนวนนี้เป็นรถแท็กซี่7-80,000คันจักรยานยนต์ 2.6ล้านคัน) และนั่นคือความเหมือนแห่งปัญหาที่มหานครทั้งสองกำลังประสบอยู่ และเราจะตามไปดูการแก้ไขปัญหาการจราจรและการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเมืองหลวงที่แตกต่างกันระหว่างสองนครา โดยเราจะวางน้ำหนักไปให้กับผลสำเร็จของกรุงโบโกต้าว่า เขามีการแก้ไขปัญหาความคับคั่งของการจราจรพร้อมกับทำให้เมืองหลวงแออัดไม่น่าอยู่กลายเป็นสวรรค์ของผู้ใช้จักรยานได้อย่างไร

กรุงโบโกต้าเป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของโคลัมเบียรวมถึงเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศแถบลาตินอเมริกา โบโกต้าตั้งอยู่ในหุบเขา Andean ทำให้เมืองที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล2,600เมตร หลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีของเมืองโบโกต้าในปี ค.ศ.1998 เอนริเก้ เปนาโรซ่า (Enrique Penalosa, Mayor of Bogota, 1998-2001)ได้รับงบประมาณถึง 15 พันล้านเหรียญ เพื่อที่จะพัฒนาและสร้างระบบทางด่วนเพื่อแก้ปัญหาการจราจร แต่เปนาโรซ่าไม่เห็นด้วยที่จะทุ่มงบประมาณทั้งหมดเพื่อสร้างถนนแข่งกับการเพิ่มจำนวนของรถยนต์ เพราะเขาเห็นว่าเมืองจะต้องเป็นสถานที่ของคนเป็นเจ้าของไม่ใช่เมืองเป็นสถานที่ของรถยนต์ งบประมาณส่วนหนึ่งจึงถูกกันออกมาเพื่อสร้างทางเท้า เพิ่มพื้นที่และจำนวนสวนสาธารณะ พัฒนาระบบขนส่งมวลชนและที่สำคัญที่สุด คือ สร้างเส้นทางจักรยานที่มีความยาวรวม 300 กิโลเมตรผ่าเข้าใจกลางเมือง

ปัจจุบันด้วยความมุ่งมั่นและเชื่อในประโยชน์ที่แท้จริงของการสัญจรโดยใช้จักรยาน เปนาโรซ่าพยายามพิสูจน์ให้โลกตระหนักว่า จักรยานมิได้แก้ไขความสับสนอลหม่านของการจราจรเพียงประการเดียว แต่มันยังแก้ปัญหามลพิษ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทุกระดับชั้นในเมืองหลวง ที่สำคัญจักรยานสร้างความเสมอภาคจนลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสถานะภาพของคน จนส่งผลให้สามารถลดปัญหาสังคมในหลายมิติได้อีกด้วย ซึ่งผู้บริหารเมืองใหญ่จำนวนไม่น้อยพยายามหลีกเลี่ยงและมองข้ามที่จะใส่ใจ หรือไม่เคยสำเหนียกถึงแนวทางแก้ไขปัญหาความคับคั่งของเมืองในประเด็นนี้เลย เพียงเวลาไม่ถึงทศวรรษนครโบโกต้าก็ได้รับการยกย่องจากทั้งนิตยสารBicyclingและหนังสือพิมพ์USA Today สองสื่อที่มีความน่าเชื่อถือและทรงอิทธิพล ได้ยกย่องว่า โบโกต้าเป็นมหานครอันดับที่สาม ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้จักรยานอย่างแท้จริง รองจากสองอันดับแรก คือ กรุงอัมสเตอร์ดัมและกรุงโคเปนเฮเกน

รูปขวา> เอนริเก้ เปนาโรซ่า นายกเทศมนตรีเมืองโบโกต้า (Enrique Penalosa, Mayor of Bogota, 1998-2001)

ฟังดูเหมือนง่ายดั่งจะพลิกฝ่ามือถึงความสำเร็จของนครโบโกต้าเมืองหลวงที่มีรากเหง้าแห่งปมปัญหาเหมือนกับกรุงเทพฯ ที่สองนคราต่างก็ขาดการวางผังเมืองมาตั้งแต่ต้น แล้วกรุงโบโกต้าภายใต้การบริหารเมืองของเปนาโรซ่าทำสำเร็จได้อย่างไร เราจะตามไปพบกับสามขั้นตอนใหญ่ๆดังนี้
  
ประการแรก คือ การสร้างเส้นทางจักรยาน ซึ่งมันต้องเป็นเส้นทางจักรยานทั้งให้ความปลอดภัย และใช้เป็นทางสัญจรจากย่านพักอาศัยไปยังจุดหมายได้อย่างแท้จริง “ เส้นทางจักรยานที่ไม่สามารถให้ความปลอดภัยกับเด็กอายุ 8 ขวบที่ปั่นจักรยานของพวกเขาได้ ไม่ถือว่าเส้นทางนั้นเป็นทางสำหรับจักรยาน ” นายกเทศมนตรีนครโบโกต้ากล่าวกับสื่อมวลชน มีหลายเมืองที่จะพยายามทำเส้นทางจักรยานขึ้นบ้าง แต่ผู้รับผิดชอบผู้บริหารเหล่านั้นยังขาดความเข้าใจ ขาดความกล้าและมุ่งมั่น เส้นทางจักรยานจึงเป็นเส้นทางที่จอมปลอมและฉาบฉวย ไม่มีความปลอดภัย ไม่สามารถเชื่อมต่อจุดหมายปลายทางที่จะใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้ ในเมืองหลวงของหลายรัฐในสหรัฐ และในหลายมหานครในเมืองใหญ่ในทวีปยุโรป ต่างผลักไสให้ประชาชนที่รักสิ่งแวดล้อมหรือประชาชนที่มีรายได้น้อย ที่รักจะใช้จักรยานไปใช้ถนนร่วมกับยวดยาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการตีเส้นกำหนดช่องทางจักรยาน หรือทาสีไปบนถนนให้เป็นทางจักรยานแทนการสร้างทางจักรยานโดยเฉพาะ ผู้บริหารนครบางประเทศมีความคิดวิกลหนักไปกว่านั้นคือ กำหนดให้ทางจักรยานไปใช้ร่วมกับทางเดินเท้า อันเป็นการขาดความเข้าใจในองค์ประกอบสำคัญของทางจักรยาน และในอีกหลายๆเมืองยังผลักดันให้ผู้ขับขี่จักรยานไปใช้ทางสัญจรร่วมกับรถยนต์ที่ใช้ความเร็วสูง สิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากจะเกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อผู้ปั่นจักรยานแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดของข้อพิพาทที่ได้รับการต่อต้านจากผู้ใช้รถยนต์ว่า จักรยานไม่มีสิทธิจะมาเบียดบังพื้นผิวการจราจรของรถยนต์ ท้ายที่สุดผู้รับผิดชอบหรือผู้บริหารก็มักจะกล่าวอ้างว่ามีผู้ใช้จักรยานเป็นจำนวนน้อยและแช่แข็งโครงการเส้นทางจักรยาน แต่เปนาโรซ่าไม่คิดเช่นนั้น เขาตั้งมั่นว่าประชาชนที่ใช้จักรยานคันละ 30 เหรียญ จะต้องมีสิทธิใช้ทางสัญจรในเมืองใหญ่ เท่ากับประชาชนอีกคนหนึ่งที่ใช้รถยนต์คันล่ะถึง 30,000 เหรียญที่สร้างมลพิษให้กับเมืองเสียด้วยซ้ำ เปนาโรซ่าเน้นย้ำว่าทั้งเส้นทางจักรยาน ทางของรถยนต์และทางเดินเท้าต้องแบ่งแยกกันออกจากกัน

ประการที่สอง คือ การสร้างระบบการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้ใช้จักรยานแบบครบวงจร แน่นอนว่ากรุงโบโกต้านอกจากจะลงทุนสร้างเส้นทางจักรยานที่ใช้ได้จริงคือ เส้นทางจักรยานต้องสามารถเชื่อมต่อจากชุมชนที่พักอาศัยไปสู่ใจกลางเมือง สถานที่ทำงาน ย่านธุรกิจ หรืออย่างน้อยประชาชนสามารถปั่นจักรยานจากที่พักอาศัย ไปสู่สถานีระบบขนส่งมวลชนไม่ว่าจะเป็นสถานีรถโดยสาร สถานีรถไฟฟ้ารางสูงหรือสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นต่อมาจากเส้นทางจักรยานก็คือ ที่เก็บจักรยานที่สะดวกในการจัดเก็บ ไม่เสียค่าใช้จ่าย รองรับกับจำนวนจักรยานได้อย่างเพียงพอและปลอดภัย
 
ประการที่สาม คือ การเปลี่ยนทัศนคติของคนเมืองที่เคยชินแต่กับการใช้รถยนต์เป็นพาหนะและมองว่าคนปั่นจักรยานคือ ส่วนเกินบนท้องถนน ให้เริ่มเป็นมิตรกับผู้ใช้จักรยาน พร้อมกับการเริ่มปลูกทัศนคติของคนเมืองให้เริ่มมองการใช้จักรยานในเชิงบวกเพื่อลดการเผชิญหน้า คนเมืองจะต้องเริ่มตระหนักว่าจักรยานไม่เพียงแต่จะมาแก้ปัญหาเฉพาะการจราจร และลดมลพิษทางอากาศและเสียงเท่านั้น จักรยานยังสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาสังคมในหลายภาคส่วน สามารถประหยัดเงินตรางบประมาณของประเทศ และแก้ไขปัญหาให้กับทุกๆคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันในเมืองด้วย แน่นอนว่าผลที่ตามมาคือ คนในเมืองใหญ่ที่เริ่มเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองที่ถูกต้องเห็นผลและจับต้องถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ จากนั้นผู้คนย่อมจะให้ความร่วมมือ ในการเสริมสร้างเครือข่ายทางจักรยานให้ครอบคลุมเส้นทางสัญจรในเมืองใหญ่ให้มากยิ่งขึ้น

เมื่อ 25 ปีก่อนผู้บริหารนครโบโกต้าได้ก่อกำเนิดวันปลอดรถยนต์ที่เรียกว่า Ciclovia โดยกำหนดให้มีการปิดถนนปีละเพียงไม่กี่วันบนถนนสายหลักๆที่ตัดผ่านกลางมหานครเป็นระยะทางเพียงแค่ 10 กิโลเมตร ปัจจุบันCicloviaได้ครอบคลุมพื้นที่ถนนรวมกันเป็นระยะทางยาวถึง 75 ไมล์(120 กิโลเมตร) จากจำนวนประชาชนมาใช้ทางจักรยาน เดินหรือวิ่ง ใส่รองเท้าติดล้อเพื่อกิจกรรมสันทนาการต่างๆ และเพื่อการออกกำลังกายเพียงจำนวนพันคน ปัจจุบันมีประชากรทั้งที่อาศัยอยู่ในนครโบโกต้าและจังหวัดใกล้เคียงกว่าสองล้านคน เดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจในกลางถนนในเมืองที่มีมนุษย์เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง
 
จากการเริ่มต้นปิดถนนเพื่อกำจัดรถยนต์และมลภาวะออกไปเพียงวันเดียว ทางการจัดให้ประชาชนลงประชามติเพื่อเพิ่มจำนวนและเวลาของวันปลอดรถยนต์ให้มากขึ้น จนขยายการปิดถนนเป็นทุกวันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา เจ็ดโมงเช้าถึงบ่ายสองโมง ผลที่ได้รับทันทีคือ ปริมาณของมลพิษในอากาศกลางใจเมืองและอุบัติเหตุลดลงอย่างน่าทึ่ง มีผู้ที่ออกมาต่อต้านนโยบายนี้บ้างก็จะเป็นพวกประกอบกิจการเกี่ยวเนื่องกับรถยนต์เท่านั้น หน่วยธุรกิจอื่นๆ ภาครัฐและเอกชน สมาคม กลุ่มกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ต่างกลับให้การสนับสนุนให้กิจกรรมนี้ ให้สืบถาวรและพัฒนาคู่เมืองของพวกเขาต่อไป

จากเมืองที่มีปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติดสูงทะลุเพดาน การเปลี่ยนแปลงจากเมืองที่มีรถยนต์เป็นเจ้าของมาเป็นเมืองของผู้คนทุกคน ทำให้ปัญหาของเมืองใหญ่ลดลง คนยากจนมีสิทธิมากขึ้นในการเข้าถึงรัฐสวัสดิการ ผู้คนไม่น้อยหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนที่พัฒนาขึ้นแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว จิล เปนาโรซ่า ผู้อำนวยการใหญ่องค์กรภาคเอกชนของแคนาดาที่มิหวังผลกำไร ผู้รณรงค์ให้เมืองต่างๆหันมาเห็นความสำคัญของการลดจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างบ้าคลั่งและหันมาใช้จักรยานแทน

< รูปซ้าย จิล เปนาโรซ่า ผู้อำนวยการใหญ่องค์กรภาคเอกชนของแคนาดาที่มิหวังผลกำไร (Gil Penaloza is the Executive Director of the Canadian non-profit organization)
 
จิล กล่าวว่า เราได้เรียนรู้จากผลของการเปลี่ยนมหานครแห่งหลากปัญหามาเป็นมหานครที่น่าอยู่ได้โดยเริ่มจากเส้นทางจักรยาน จริงอยู่จักรยานและทางจักรยานอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ทางจักรยานและการสนับสนุนให้คนหันมาปั่นจักรยาน ไม่ว่าจะวัตถุประสงค์ทางด้านการคมนาคม การออกกำลังกาย สันทนาการหรือการกีฬาก็ตาม มันกลับส่งผลให้ลดปัญหาอุบัติเหตุ ลดมลพิษทางอากาศและเสียงเป็นอันดับต้นๆ ต่อมาการเปลี่ยนทัศนคติสามารถช่วยลดปัญหาสังคมตั้งแต่อาชญากรรมไปจนถึงยาเสพติด จักรยานและทางจักรยานพาครอบครัวมาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง คนมีรายได้สูงกับคนมีรายได้น้อย สามารถพบปะพูดคุยกันโดยไม่มีสถานะภาพทางสังคมขวางกั้น มนุษย์เริ่มหันกลับมาเจอหน้ากัน ทักทายกัน ถามถึงสารทุกข์สุขดิบ แทนการถูกบดบังความสัมพันธ์กันด้วยรถยนต์ ทุกคนเริ่มเห็นผลดีของการพัฒนาสังคมเมือง เพื่อรักษาความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีความสำนึกความเป็นเจ้าของเมือง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาความเป็นอยู่ มากกว่าการอยู่ในเมืองเพียงเพื่อต่างคนต่างเอาตัวรอด


ในความเหมือนของสองนคราแห่งปมปัญหา มันกลับมีความแตกต่างในกระบวนทัศน์ในการแก้ปัญหาอย่างสิ้นเชิง ระหว่างนครโบโกต้าที่ไม่ได้มีอะไรวิเศษไปกว่ากรุงเทพมหานคร แต่วันนี้กรุงโบโกต้าได้เรียกความเป็นเมืองของมนุษย์กลับคืนมาเป็นผลสำเร็จ ในขณะที่กรุงเทพฯทำในสิ่งตรงกันข้ามคือ แทนที่จะเร่งพัฒนาการขนส่งมวลชนทางรางที่ประหยัด สะอาด มีประสิทธิภาพและปลอดภัย สนับสนุนให้ผู้คนหันมาใช้จักรยาน ผู้ครองอำนาจรัฐกลับใช้นโยบายประชานิยมส่งเสริมให้ประชาชนครอบครองรถยนต์ได้อย่างง่ายขึ้น เกื้อหนุนให้กิจการอุตสาหกรรมที่เผาผลาญพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด ตักตวงทรัพยากรธรรมชาติและทำลายสิ่งแวดล้อมของโลก ด้วยการกอบโกยผลกำไรได้อย่างมหาศาล ผลักไสเพิ่มจำนวนยานยนต์อย่างมากมายให้แออัดเข้าไปในท้องถนนที่มีผิวทางอย่างจำกัด สร้างมลพิษ เพาะบ่มความเห็นแก่ตัว พอกพูนความไร้น้ำใจที่ทำให้ผู้ใช้ยวดยานต้องแก่งแย่งครอบครองผิวการจราจรที่น้อยนิดจนถึงขั้นประหัตประหารกันกลางถนน ประเทศชาติจะต้องพึ่งพิงบริษัทจำหน่ายรถยนต์ต่างชาติไปตลอดกาลเพื่อเสียเงินตราเพื่อสั่งซื้ออะไหล่รวมทั้งเชื้อเพลิง

วันนี้นครโบโกต้าสามารถสร้างสวรรค์ให้เกิดขึ้นกลางใจเมือง และกลางใจพลเมืองของพวกเขาสำเร็จ นั่นเป็นเพราะมิใช่มาจากการผลักดันจากพลังของรากหญ้าประชาชน หรือภาคเอกชนย้อนขึ้นไปสู่ต้นแม่ไม้ใหญ่แต่เพียงลำพังก็หาไม่ แต่เป็นเพราะความมุ่งมั่นและกล้าหาญที่จะเร่งพัฒนาเมืองโดยปราศจากผลประโยชน์แอบแฝง ทำให้ผู้บริหารเมืองและรัฐบาลของเขากล้าที่จะตัดสินใจเข้ามาแก้ไขปัญหาของเมืองใหญ่อีกแรงหนึ่ง จนเป็นแรงประสานก่อให้เกิดความสำเร็จขึ้นอย่างงดงามนั่นเอง ไม่อยากให้พวกเราสิ้นหวังแต่เรายังมองไม่เห็นแสงสว่างจากปลายอุโมงค์ได้เลยว่า ในชั่วชีวิตนี้ของเราจะได้เห็นและร่วมกันโจษจันกันว่า กรุงเทพฯก็เป็นหนึ่งแห่งนครา Ciclovia.

 

You are here: Home Nakornthai's talk Bangkok กับ Bogota สองนคราแห่งความเหมือนและแตกต่าง