Nakornthai Bike

Contact Number : +662 3771701 , +662 3781900 , +6681 9145156

Line@ : @nakornthaibike  E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.  

Address : https://maps.app.goo.gl/oQzVaBu5EMmHhuyN6?g_st=ic



Nakornthai's talk

Nakornthai's talk

Giro d’Italia ไตรมหากาพย์แห่งราชันย์ทางเรียบ (ภาค 2)

การแข่งขัน Giroในปี 1921 Girardengo หลังจากที่พลาดหวังแชมป์ในปี1920  มาหมาดๆจากการประสบอุบัติเหตุ ปี1921 ดูเหมือนว่า Girardengo กำลังจะกลับมาทวงคืนความยิ่งใหญ่ได้ในสี่วันแรกของการแข่งขัน  Girardengo สามารถชนะถึงสี่ช่วงสี่วัน  แต่ในการแข่งขันในช่วงที่ห้าหมอก็เข้าไปสังคยานากับอุบัติเหตุอีกครั้งในช่วงกิโลเมตรที่60(37ไมล์)จากเส้นเริ่มต้น  อาการบาดเจ็บของGirardengoทำให้ความแข็งแกร่งถูกลดทอนไป จึงเป็นโอกาสทองของ Giovanni Brunero คู่แข่งสามารถคว้าชัยมาครองโดยเริ่มโจมตีหนีคู่แข่งในการแข่งขันช่วงที่เจ็ด  และBruneroก็คว้าแชมป์Giroประจำปี1921โดยควบศัสตราวุธคู่ใจทักทายกรุงมิลานโดยทิ้งคู่แข่งกว่านาที

ในปี 1922 เป็นการแข่งขันปีแรกที่เริ่มมีข้อถกเถียงในกติกาการแข่งขัน หลังจากการแข่งแบบตัวใครตัวมันพัฒนามาเป็นระบบทีม  ในช่วงการแข่งขันในวันแรกBrunero แชมป์เมื่อปีกลายเกิดปัญหาที่ล้อหลัง  หมอได้เปลี่ยนล้อกับเพื่อนร่วมทีมคือ Alfredo Sivocci ซึ่งถ้าเป็นการแข่งขันในปัจจุบันคงมิใช่เรื่องใหญ่โตและผิดกติกา  แต่ในสมัยนั้นนักปั่นระดับแชมป์อย่าง Costante Girardengo และGaetono Belloni จากทีมMaino และทีมBianchi เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ยุติธรรมต่อนักปั่นคนอื่นๆ  นักปั่นในสมัยนั้นเห็นว่าBrunero จะต้องถูกตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขันทันที  แต่คณะกรรมการมีมติให้ทำโทษBrunero ตัดเวลาออก 25 นาที  และBrunero ก็สามารถคว้าชัยมาครองสำเร็จ  ในขณะที่สองคู่แข่งที่น่ากลัวได้ประท้วงด้วยการไม่ร่วมแข่งขันต่อ

ปี 1923 เป็นการแข่งขัน Giro อีกปีหนึ่งที่เป็นการตอกย้ำในศักดาของนักปั่นผู้แข็งแกร่งอย่าง Constante Girardengo หมอสามารถชนะจากแปดช่วงการแข่งขันจากสิบช่วง  และสามารถเก็บเกียรติประวัติคว้าแชมป์อีกสมัยโดยมีชัยชนะฉิวเฉียดเฉือน Giovanni Bruneroเพียง 37 วินาที

ในปี 1924 นักปั่นระดับแนวหน้าอย่าง Girardengo,Brunero และBelloni ไม่ยอมเข้าแข่งขันเนื่องจากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในเรื่องค่าเหนื่อยจากการปั่น  เมื่อไม่มีสามเสือระดับแชมป์เข้าแข่งขัน  Giuseppe Enrici จึงแจ้งเกิดด้วยการพิสูจน์ในชัยชนะของเขาด้วยการมิใช่ต้องต่อสู้กับนักปั่นคนอื่นๆเท่านั้น แต่หมอจะต้องต่อสู้กับสภาพอากาศที่เลวร้ายที่Giroไม่เคยประสบมาก่อนอีกด้วย  มีสิ่งพิเศษเกิดขึ้นอีกอย่างใน Giro ปี 1924 และถือได้ว่าเป็นประวัติศาสรต์สำคัญของโลกแห่งวงการจักรยาน  เมื่อมีนักปั่นแม่เนื้อนิ่มสาว Alfonsina Strada ลงร่วมแข่งขันกับนักปั่นชาย เธอสามารปั่นจบจบระยะทางแต่ตามหลังที่หนึ่งมาหนึ่งวันเต็มๆ Stradaเธอไม่ใช่ธรรมดาที่เดินออกจากร้านชำแล้วถกกระโปรงมาคร่อมอานจักรยานเลย Stradaเป็นนักจักรยานหญิงระดับอาชีพมีฉายาว่า The Devil in a Dress เป็นนักจักรยานทั้งประเภทถนนและลู่  ชนะการแข่งขัน  36 รายการ ปี 1911 ทำความเร็วสถิติโลกที่ 37 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและในปี1938สามารถครองสถิติโลกด้วยเวลา 1 ชั่วโมงเธอปั่นได้ 32.58กิโลเมตร เธอเสียชีวิตลงเมื่ออายุ 69 ปีในอุบัติเหตุทางมอร์เตอร์ไซด์ที่เธอบิดตามชมการแข่งขันGiroในปี 1959

Giro d’Italia 1925-1935 ช่วงเวลาทองของ Alfredo Binda

ปี 1925 ของการแข่งขันGiroเป็นปีแห่งการเกิดดาวเจิดจรัสดวงใหม่ของ Giroอีกดวงหนึ่ง  Alfredo Binda หลังจากกำชัยชนะมาถึงห้าช่วงของการแข่งขันและอยู่ในฐานะผู้นำ  Bindaหนีกลุ่มพร้อมกับนักจักรยานกลุ่มเล็กๆในขณะที่นักปั่นที่ยิ่งใหญ่อย่างGirardengoง่วนอยู่กับการปะยางรถจักรยานของตน  และ Binda ก็คว้าชัย Giro ปี1925 เป็นผลสำเร็จ ปีต่อมามีนักจักรยานถึง 204 คนพร้อมกันที่จุดเริ่มต้นการแข่งขันในมิลาน  แต่เหลือรอดมาถึงเส้นชัยในช่วงสุดท้ายในมิลานเพียง 40 คน ในปีนั้นของช่วงการแข่งในวันแรกBinda ประสบอุบัติเหตุและสูญเสียเวลาไปมากโข แต่Binda ก็ได้Brunero ช่วยเหลือจนสามารถชนะการแข่งขันถึงหกช่วง  และส่งให้Bruneroชนะการแข่งขันในปีนั้นนับเป็นชัยชนะGiroครั้งที่สามของ Brunero

ปี 1927 ไม่มีใครหยุดBinda ได้อีกแล้วเขาชนะการแข่งขันทั้ง 12 ช่วงของการแข่งขันGiroในปีนั้น และสถิตินี้ยังไม่มีใครทำลายได้จนถึงปัจจุบัน  มีเพียงCostante Girardengoเป็นคนแรกที่ชนะทุกช่วงการแข่งขันในปี1919แต่ช่วงการแข่งขันน้อยกว่า  ปี1928คณะผู้จัดได้เพิ่มกติกาเข้ามาใหม่ให้ผู้ชนะช่วงการแข่งขันในแต่ละวันได้รับโบนัสเวลา 1 นาที  Binda เป็นเป็นนักปั่นคนที่สองที่เป็นผู้ชนะการแข่งขันGiro สามสมัย และในปีนั้นมีนักปั่นร่วมเข้าแข่งขันถึง 298 คน 126 คนสามารถฟันฝ่าอัปสรรคและระยะทางจนถึงกรุงมิลาน

ปี 1929 Bindaก็ประกาศศักดาอีกครั้งหลังจากที่คว้าชัยGiro มาสามสมัย  Binda สามารภชนะถึง 8 ช่วงการแข่งขันที่เริ่มต้นการแข่งขันจากโรมมิใช่มิลาน  ปี1930 Binda ไม่ลงแข่งขันด้วยเหตุผลแปลกๆเพราะมีการจ้างให้เขางดลงแข่งGiroในปีนี้ด้วยค่าจ้างเท่ากับผู้ได้รับชัยชนะคือ 22,500 ลีร์  ผู้ชนะในปีนั้นจึงตกเป็นของ Luigi Marchisio ที่ชนะมาสามช่วงการแข่งขัน  Marchisioเป็นนักปั่นที่สร้างประวัติศาสตร์ของGiroคือ เป็นนักปั่นอายุน้อยที่สุดที่คว้าชัยสำเร็จด้วยอายุ 21 ปี 1 เดือน 13 วัน สถิตินี้ยาวนานมาถึง 10 ปีจนถูกทำลายลงโดย Fausto Coppi

ปี 1931 หลังจากที่Giroได้เปิดสนามประลองยุทธ์ของจักรยานทางเรียบและอาจจะไม่เรียบในบางช่วงมาหลายปี  เสื้อแห่งเกียรติยศสีชมพูสำหรับนักจักรยานผู้มีคะแนนนำ มีเวลารวมน้อยกว่าคนอื่นหรือชนะเลิศประเภททั่วไป ได้รับการ บรรจุเข้าในการแข่งขันGiroในปีนี้เอง  สีชมพูถูกเลือกมาเป็นสีเสื้อแห่งเกียรติยศเพราะหนังสือพิมพ์ La Gazzetta dello Sport นั้นพิมพ์บนเนื้อกระดาษสีชมพูนั่นเอง  Pink Jersey หรือMaglia Rosaถูกสวมใส่โดยนักจักรยานคนแรกคือ Learco Guerra 

ปี 1932 เป็นการกลับมาอีกครั้งของBindaแต่เขาขาดความพร้อมที่จะเป็นแชมป์  Bindaจึงลงแข่งขันในฐานะเพื่อนร่วมทีมโดเมสติคที่คอยช่วยเหลือAntonio Pesenti ซึ่งในระหว่างการแข่งขันHermann Buseนักปั่นเยอรมันชนะไปสองช่วงการแข่งขันจากหกช่วง ทำเวลาไล่จี้มาอย่างน่ากลัว  แต่ในท้ายที่สุดPesentiก็โซโลเดี่ยวเข้าเส้นชัยและทำเวลารวมมีชัยเหนือนักปั่นคนอื่นๆ

การจัดให้มีรางวัลสำหรับผู้ชนะที่ขึ้นถึงยอดเขาก่อนนักปั่นคนอื่นๆ (Moutains Classification) เริ่มนำมามอบให้นักจักรยานครั้งแรกใน Giroปี1933  รวมถึงรางวัลสำหรับประเภทการจับเวลาบุคคล (Individual Time Trial) ผู้จัดการแข่งขันยังมีมติให้Giroแข่งเพิ่มขึ้นเป็น 17 ช่วงการแข่งขัน  พอมีการมอบเสื้อผู้ชนะจ้าวภูเขาBindaก็สามารถคว้าไปครองทั้งเสื้อผู้ชนะเวลารวมและจ้าวภูเขาไปครองโดยนับเป็นนักจักรยานคนแรกที่ชนะการแข่งขันGiroถึงห้าสมัย 

ปี 1934 Learco Guerra ชนะช่วงการแข่งขันถึงสิบช่วงในการแข่งขันของกฎใหม่คือ สิบเจ็ดช่วง หลังจากที่Bindaประสบอุบัติเหตุต้องออกจากการแข่งขันหลังจากถูกมอเตอร์ไซด์ตำรวจพุ่งชน  Francesco Camussoกลับกลายมาเป็นคู่ต่อสู้ที่น่ากลัว  นักปั่นทั้งคู่ถนัดในการแข่งขันคนละแบบ  ในขณะที่Camussoเป็นเสมือนแพะภูเขาส่วนในขณะที่Guerraเป็นนักจักรยานที่ใช้ความเร็วสูง  แม้Guerraจะถูกทิ้งห่างในช่วงการปั่นขึ้นเขา  แต่ในการแข่งขันช่วงจับเวลาบุคคลGuerraก็ควบจักรยานประชิดเวลาเข้ามาได้จนเหลือระยะห่างจากCamussoเพียงสี่นาที การต่อสู้เส้นทางสู่มิลานที่เหลือทั้งคู่ต่อสู้แบบกัดกันไม่ปล่อย  และGuerraก็สามารถคว้าชัยชนะไปครองโดยมีเวลาน้อยกว่าที่สองเพียง 51 วินาที

Giro d’Italia 1936-1953 การชิงเป็นจ้าวตำนานระหว่างBartaliและCoppi
 
เมื่อมีการเมืองระหว่างประเทศร้อนแรงช่วงก่อนเกิดสงครามโลกเข้ามามีอิทธิพลในวงการกีฬา Giro1936 อิตาลี่ก็ไม่ได้เชิญนักปั่นจักรยานชาวต่างชาติเข้าร่วมการแข่งขัน ปีนี้คณะผู้จัดได้เพิ่มการแข่งขึ้นเขาด้วยการจับเวลาบุคคลเข้ามาด้วยระยะทางยาว 20 กิโลเมตร(12ไมล์)ขึ้นสู่ยอดเขาTerminillo  Gino Bartaliโจมตีในช่วงขึ้นเขาในช่วงที่ 9 และนำโด่งเข้าเส้นชัยที่มิลาน  ปี1937คณะผู้จัดก็เพิ่มการแข่งขันแบบทีมจับเวลาเข้ามา  โดยกำหนดระยะทาง62 กิโลเมตร(39ไมล์)  และทีมที่ชนะคือ Legnano ก็เป็นทีมของBartali ที่ชนะประเภททั่วไปเป็นสมัยที่สองนั่นเอง หลังจากที่คว้าชัยGiroมาถึงสองสมัยรัฐบาลของอิตาลี่ได้ขอร้อง(แกมบังคับ)ให้Bartali ลงแข่งขันจักรยานในรายการTour de Franceแทนในปี 1938  ส่งผลให้ผู้ชนะGiroกลายเป็นGiovanni Valettiที่ ทำเวลาทิ้งคู่แข่งคือ Ezio Cecchi ไปเก้านาที

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้นเป็นปีที่สอง  การแข่งขันจักรยานทางไกลของอิตาลี่ก็ยังไม่มีการระงับ  Bartali กลับมาด้วยความพร้อมทั้งตัวเองและทีมหินผาLegnano และแล้วเหมือนฟ้าลิขิตให้เกิดดาวดวงใหม่  ความฝันของBartali ก็พังทลายเมื่อหมอประสบอุบัติเหตุในช่วงที่สอง  ส่งผลให้หน้าที่ที่จะต้องคว้าชัยมาให้กับทีมให้ได้ต้องเปลี่ยนมือตกไปอยู่กับ Fausto Coppi ที่ถูกทีมวางตัวให้เป็นผู้กำชัยแทน  ในช่วงการแข่งขันที่สิบเอ็ดCoppi โจมตีกลุ่มนักจักรยานแหวกลมแหวกเนินขึ้นเขาAbetone ไปตามลำพัง  และหมอก็โซโลเดี่ยวแบบปั่นคนเดียวไร้เพื่อนไปจนถึงเมืองมิลาน  ดาวดวงใหม่แห่งวงการจักรยานนอกจากคว้าชัยชนะเป็นหนแรกของGiroแล้ว  Coppi ยังเป็นนักจักรยานที่มีอายุน้อยที่สุดที่สามารถชนะรายการแกรนทัวร์ของอิตาลี่ได้ คือ อายุ 20 ปี 8เดือน กับอีก 25 วันทำลายสถิติที่ Luigi Marchisio ทำไว้  ส่วนBartali ถึงจะลงวัดพื้นแต่หมอก็ไม่กลับบ้านมือเปล่า  เพราะการชนะสองช่วงภูเขาใกล้กรุงมิลาน  ทำให้Bartali คว้าเสื้อจ้าวภูเขาไปครอง

ปี 1942 อิตาลี่เข้าร่วมสงครามโลกโดยอยู่ฝ่ายอักษะเป็นพันธมิตรกับเยอรมัน Coppiถูกเกณฑ์ทหารและส่งไปรบที่ตูนีเซีย  ส่วนBartaliถูกส่งไปประจำการที่วาติกัน ช่วงเวลาสงครามโลกทำให้รู้เลยว่าคนยุโรปนั้นคลั่งกีฬาจักรยานทางไกลมากแค่ไหน แม้แต่จอมเผด็จการอย่างเบนนิโต มุสโสลินีของอิตาลี่ก็ยังอยากให้คงการแข่งขันจักรยานไว้แม้ประเทศจะเผชิญกับสภาวะสงคราม  แต่ในสภาวะสงคราม อาหาร น้ำมัน ยานยนต์และยุทธปัจจัยอื่นๆ  ไม่สามารถนำมาใช้อย่างสิ้นเปลืองกับการแข่งขันจักรยาน รัฐบาลจึงปรับเปลี่ยนการจัดการแข่งขันจักรยานแบบแบ่งเป็นช่วง  มาเป็นการแข่งขันแบบวันเดียวและมอบคะแนนสะสมให้กับผู้ชนะ  จึงเป็นที่มาของการแข่งขัน Milan-San Remo และGiro di Lombardia  การให้คะแนนสะสมแบบใหม่(Point Series)ผู้ได้รับชัยชนะคนแรกคือ Gino Bartali ในปี 1942   ถัดมาปีเดียว1943เป็นปีที่กองทัพสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่ซิซิลี และมุสโสลินีเองก็ถูกโค่นอำนาจลงทำให้การแข่งขันจักรยานทั้งหมดในประเทศอิตาลี่ต้องยุติลงชั่วคราว

ปี 1946 หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบ Giroก็กลับมาสู่อ้อมอกของชาวอิทาเลี่ยนอีกครั้ง มาคราวนี้ก็เกิดความคิดแผลงๆขึ้นมาคือ คณะผู้จัดใจร้ายที่กำหนดเสื้อดำขึ้นมา(Black Jersey, Maglia Nera)มีไว้(ประจาน)สำหรับนักปั่นที่มีเวลารวมช้าที่สุดในการแข่งขัน  BartaliและCoppi กลับมาแข่งขันอีกครั้งแต่แยกย้ายไปคนละทีม  ในการแข่งขันGiro1946 ช่วงการแข่งขันที่12เส้นทางจะต้องผ่านPieris มีชาวยูโกสลาฟที่กำลังมีพิพาทพรมแดนกับอิตาลี่ได้ระดมปาหินและระดมยิงปืนมาที่ทหารรักษาการณ์ของกองทัพอิตาลี่  ทำให้การแข่งขันในช่วงนี้ต้องถูกยกเลิกลง  Bartali กลับมาเป็นผู้นำในช่วงที่สิบสาม  ถึงแม้จะไม่ชนะช่วงการแข่งขันเลย แต่เวลารวมและการเป็นจ้าวภูเขาทำให้หมอกวาดไปทั้งสองรางวัลใหญ่

ปี 1947 Giro ได้ปรับเปลี่ยนระบบทีมธรรมดาๆมาเป็นทีมที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาคเอกชนอย่างเต็มรูปแบบ  ในปีนี้เป็นการต่อสู้ของเสือร้ายสองตัวแบบชิงไหวชิงพริบ ทั้งCoppi และBartali ผลัดกันนำและผลัดการโจมตี  โดยมีอุปสรรคคอยขวางกั้นคือ โซ่หลุดและยางแบน แต่ในท้ายที่สุดไม่มีใครหยุดCoppi ไว้ได้  Coppiโจมตีเป็นครั้งสุดท้ายที่Passo Pordoi และเก็บเวลารวมนำห่างBartali จนถึงกรุงมิลาน    ปี1948 ผลการแข่งขันGiro ก็เกิดความสูสีกันอีกครั้ง  Fiorenzo Magni ชนะEzio Cecchi เพียง 11 วินาที  มีการร้องเรียนจากCoppiและทีมBianchi ว่าMagniทำผิดกติกาเพราะได้รับความช่วยเหลือจากคนดู  คณะกรรมการตัดสินให้ถูกปรับไปสองนาทีแต่มันก็ยังไม่พอที่จะหยุดยั้งในชัยชนะของ Magni ไว้ได้


Giro 1949 Coppi กลับมาอีกครั้งโดยตั้งเป้าว่าจะต้องชนะในการแข่งขันในปีนี้ให้ได้ หลังแข่งไปได้ 9 ช่วง Coppi ตามห่างผู้นำ Adolfo Leoni อยู่สิบนาที  และในช่วงที่สิบCoppiก็ควบม้าศึกไล่ผู้นำจนเหลือหนึ่งนาที  หนึ่งในตำนานการแข่งขันGiro ก็เกิดขึ้นในการแข่งขันช่วงที่ 17 Coppiโจมตี(เร่งความเร็วหนีนักปั่นคนอื่นๆ)ตั้งแต่เริ่มปล่อยตัวและต้องเผชิญกับขุนเขาถึงห้าลูกรอเขาอยู่  Coppiสามารถเข้าเส้นชัยโดยมีเวลาทิ้งผู้เข้าที่สองอยู่สิบเอ็ดวินาทีคว้าชัยการเป็นแชมป์Giro เป็นครั้งที่สามในอาชีพนักปั่น 

ปี 1950 Coppi ลงแข่งขันเช่นเดิมพร้อมกับความมุ่งมั่นที่จะเก็บชัยชนะ  แต่เป็นอีกปีที่สิงห์ผยองต้องบาดเจ็บ ในช่วงที่เก้าCoppi ก็ลงวัดพื้นอย่างแรงจนกระดูกเชิงกรานแตก  ในการแข่งช่วงแรกๆ Fritz Schar มีเวลารวมนำ  แต่Hugo Koblet โจมตีตามมาจนมีเวลารวมนำจนถึงกรุงมิลาน  และนั่นเป็นประวัติศาสตร์การแข่งGiroที่ถูกจารึกไว้ว่ามีนักปั่นจากต่างชาติคนแรกที่ชนะการแข่งขันทั้งประเภททั่วไปและประเภทจ้าวภูเขา

ผ่านไปสามปีหลังจากเก็บชัยชนะ Giro Fiorenzo Magni ก็กลับมาทวงคือตำแหน่งแชมป์อีกครั้ง ปี1951นักปั่นระดับพระกาฬหายหน้าไปเป็นจำนวนมาก  ที่จะดูพอวัดรอยเท้ากันได้ก็จะมีเพียงนักปั่นจากเบลเยี่ยม Rik Van Steenbergen ซึ่งหมอปั่นได้อย่างน่าทึ่งในช่วงผ่าน Dolomites  Magniทำได้สุดยอดในการถลาลงเขาในช่วงที่ 18 และคว้าชัยไปในที่สุด ปี1952เป็นปีที่มีนักปั่นเสียชีวิต Orfeo Ponsin ลงเขาที่ Merluzza มาอย่างความเร็วสูงจนสูญเสียการควบคุมรถจักรยานและชนเข้ากับต้นไม้ข้างทางอย่างจัง  Coppi กลับมาอีกครั้งและโจมตีกลุ่มที่ Passo Pordoi จากนั้นหมอก็ปั่นเดี่ยวกับสิบช่วงการแข่งขันที่เหลือคว้าชัยไปอย่างไร้คู่แข่งหายใจรดต้นคอ 

ปี 1953 นักปั่นสวิส Hugo Kobletทำท่าว่าจะครองแชมป์เป็นปีที่สองได้ไม่ยาก หลังจากการแข่งขันแบบปล่อยเดี่ยวจับเวลาในช่วงที่แปด   Koblet มีเวลารวมนำCoppi จนถึงช่วงที่ยี่สิบ  แต่ในช่วงที่ยี่สิบเอ็ดความซวยก็บังเกิดกับนักปั่นสวิส  Kobletได้ทานยาแอมเฟตามีนเข้าไปเป็นจำนวนมากในคืนก่อนแข่งในช่วงที่สิบเอ็ดจนอาการอ่อนเพลียเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  Coppiเมื่อได้ข่าวการใช้ยาเกินของคู่แข่ง  ก็มั่นใจพอที่จะเอาชนะคู่ต่อสู้ได้และCoppiก็สามารถชนะไปสองนาทีหลังจากที่ตามหลังอยู่  ทำให้Coppiสร้างประวัติศาสตร์แห่งเกียรติยศนักจักรยานอาชีพคือ สามารถชนะ Giro ได้ถึง 5 สมัย

 

You are here: Home Nakornthai's talk Giro d’Italia ไตรมหากาพย์แห่งราชันย์ทางเรียบ (ภาค 2)